ชัยภูมิจัดพิธีถวายราชสดุดี เนื่องวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันที่ 25 เมษายน 2557 เวลา 08.30 น.ณ ศาลาประชาคมจังหวัดชัยภูมิ นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผุ้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้ นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวชัยภูมทุกหมู่เหล่า ประกอบพิธีวางพวงมาลา กล่าวคำถวายราชสดุดี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน 2557

สมเด็จ พระนเรศวรมหาราช ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2098 พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างล้ำเลิศ มีพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในทางการรบ ทรงเชี่ยวชาญในอาวุธทุกชนิด และทรงตรากตรำพระวรกายในการทำศึกสงคราม ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ โดยมิได้ว่างเว้น นับตั้งแต่พระชนมายุ 16 พรรษาทรงสามารถขับไล่ กองทัพพระยาจีนจันตุ จนแตกพ่ายไปในปีพุทธศักราช 2124ทรงแสดงแสนยานุภาพ ในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคัง ที่ตั้งอยู่บนเขาสูงและได้รับชัยชนะ จนถึงปีพุทธศักราช 2127สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศพระอิสรภาพที่เมืองแครงว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปกรุงศรีอยุธยา ไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดี การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่า เป็นการประกาศอิสรภาพของไทย หลังจากประกาศอิสรภาพแล้ว ก็ได้กรีฑาทัพเข้าสู่ชานเมืองหงสาวดี และรวบรวมคนไทยกลับมาได้ อีกทั้งยังสามารถ ใช้พระแสงปืนยาว ยิงข้ามแม่น้ำสะโตง ถกแม่ทัพของพม่าที่ติดตามมา ซึ่งนั่งอยู่บนคอช้าง จนเสียชีวิต ทำให้ทัพพม่าถอยกลับไป พระแสงปืนที่ทรงใช้วันนั้น ได้ปรากฏนามว่า "พระแสงปืนต้น ข้ามแม่น้ำสะโตง” ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธที่จัดอยู่ในพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค สำหรับพระมหากษัตริย์สืบมาจนบัดนี้ ในปีเดียวกันทรงได้รับชัยชนะ ในการทำสงครามกับพระยาพะสิม ที่เมืองกาญจนบุรี จนถึงพุทธศักราช ๒๑๒๙พระเจ้านันทบุเรงยกทัพใหญ่มาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร ทรงได้ใช้วิจารณญาณอันล้ำเลิศ วางแผนป้องกันเมือง โดยการจัดกองโจรออกตัดการลำเลี้ยงเสบียง และออกไปตีปล้นข้าศึก เพื่อมิให้ข้าศึกมีเวลาพักผ่อน พม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นานถึงห้าเดือน แต่ไม่สามารถเข้าตีได้ จึงล่าทัพกลับไป กรุงศรีอยุธยาว่างศึกได้เพียงสามปี จนล่วงถึงปีพุทธศักราช 2133 สมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์ พระเจ้านันทบุเรงยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงเปลี่ยนยุทธวิธีการรบ จากการตั้งรับมาเป็นฝ่ายรุก โดยได้ตั้งทัพหลวง รับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย และหลอกล่อให้กองทัพพม่า รุกไล่เข้าไปในวงล้อมที่พระองค์วางทัพรออยู่ ผลของการรบครั้งนั้น พระยาพุกามตายในที่รบ พระยาพะสิมถูกจับ ส่วนพระมหาอุปราชาถอยหนีไป ในวันที่ 18 มกราคม ปีพุทธศักราช 2135สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนได้รับชัยชนะทำให้พระบรมเดชานุ ภาพ แผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี หลังจากสงครามยุทธหัตถีครั้งนี้แล้ว ได้ทรงปราบปราม หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ได้เมืองตะนาวศี มะริด และทวาย ปีพุทธศักราช ๒๑๓๘ และ ๒๑๔๒ ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองหงสาวดี ได้เมืองเมาะลำเลิง แล้วทรงยกทัพไปถึงเมืองหงสาวดี และเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ใน ปีพุทธศักราช ๒๑๔๘ พระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น จึงขยายอาณาเขตเข้ามาทางแคว้นไทยใหญ่ สมเด็จพระนเรศวร ยกทัพไปยังเมืองห้างหลวง และประชวรหนักจนเสด็จสวรรคต เมื่อเดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พุทธศักราช 2148 พระชนมายุ 50 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 15 ปี          

แม้พระองค์จะได้ เสด็จสวรรคต มานาน 406 ปี แล้วก็ตาม ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพสกนิกรไทยทั้งมวล ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระเกียรติคุณของพระองค์ ขอถวายราชสดุดีขอเดชาพระบารมี และดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ของพระองค์ปกแผ่ไพศาล คุ้มครองชาวไทยทั้งมวล และประเทศไทย ให้ร่มเย็นยั่งยืนตลอดไป